โดย ดารกา วงศ์ศิริ
Introduction
การเขียนบทละครเวทีนั้น ไม่ใช่เรื่องยาก แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่ง่ายเหมือนกัน เพราะการเขียนบทก็เป็นศาสตร์อย่างหนึ่งที่นักเขียนต้องฝึกฝนอย่างสม่ำเสมอ ถ้าหากเรามีความคิดแต่ว่าอยากเขียนจังเลยๆ (อันนี้พบเสมอค่ะ จะมีคนมาพูดประโยคนี้ให้ฟังอยู่เรื่อยๆ) แต่ว่าไม่ลงมือเขียนซักที มันก็เหมือนเงื้อดาบอยู่นั่นแหละ แต่ไม่ฟัน นานๆไปคนเงื้อก็เมื่อยมือไปเอง ต้องเอามือลงแล้วรีบไปทำอย่างอื่นแทน เพราะฉะนั้น หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ที่ต้องการจะร่วมเวิร์คชอบด้วยคราวนี้ จะไม่รีรอลังเลโฉเกเฉโก แล้วก็เขียน เขียน เขียน ถ้าคุณทำได้ตามแบบฝึกหัดที่ให้ไปทีละขั้นตอน (ไม่โหดหรอกค่ะ) อย่างน้อยก็คิดว่า คุณจะเข้าใจศาสตร์และศิลป์ของการเขียนบทละครได้ดีขึ้น
ดิฉันเองไม่ได้เป็นคนเขียนบทละครที่เก่งกาจอะไร เพียงแค่รักละครเวที และก็รักการเขียนบทสำหรับแสดงบนเวทีเท่านั้นเอง และดิฉันก็มีความสุขที่ได้เล่าเรื่องต่างๆผ่านตัวละคร ซึ่งเป็นความสุขที่ดิฉันอยากแบ่งปันให้กับทุกคน
ดังนั้น จุดประสงค์สำคัญอย่างหนึ่งของเวิร์คชอบนี้ก็คือ ไม่อยากให้กลัวการเขียนบทละคร อยากให้ทุกคนสนุกสนานกับการคิดและเขียน เพราะฉะนั้นสิ่งแรกที่เราจะต้องทำก็คือ อย่าเครียดๆๆ ยิ้มเข้าไว้ค่ะ แล้วก็พร้อมที่จะสนุกกับมัน : )
เรามาดูกันว่า เราจะต้องรู้จักอะไรบ้างในการเขียนบท
SubJect หัวข้อเรื่อง
เมื่อคุณอ่านมาถึงตรงนี้ ก็แสดงว่า คุณคงจะต้องมีความตั้งใจอยากจะทดลองเขียนแล้ว เพราะฉะนั้น ดิฉันจะขอถามกลับไปว่า คุณต้องการเขียนเรื่องเกี่ยวกับอะไร หรือว่าคุณมีอะไรอยู่ในสมองแล้วหรือเปล่า ถ้าไม่มี ลองเริ่มต้นคิดตั้งแต่ตอนนี้เลยซีคะ ลองคิดถึงเรื่องต่างๆที่คุณได้พบเห็นทุกวัน ที่คุณเคยอ่านพบ หรือประทับใจ ของพวกนี้ก็คือ แรงบันดาลใจ ของคุณ ซึ่งมีได้มากมาย เช่น คุณอาจจะอยากเขียนเรื่อง ความรัก ความอยุติธรรมทางสังคม แม่ของฉัน โลกใต้น้ำ เรื่องบ้าๆ เรืองที่นำเนื้อหามาจากเพลงโปรด เรื่องผี นักการเมือง ฯลฯ
สิ่งต่างๆที่ว่ามานี้ ในภาษาอังกฤษ หรือภาษาการละคร เค้าเรียกกันว่า Subject ถ้าเป็นภาษาไทยก็ขอเรียกว่า หัวข้อ ก็แล้วกัน จะเห็นได้ว่า หัวข้อที่คุณอยากจะเขียนนั้นมีได้ร้อยแปดพันเก้า วันนึงๆ คุณอาจจะความคิดพวยพุ่ง มีหัวข้อแล่นพล่านอยู่ในสมอง เป็นสิบๆหัวข้อก็ได้ เห็นรถเมล์จอดไม่ตรงป้ายก็ยัวะ อยากจะเขียนเรื่องระบบของรัฐที่แสนจะห่วยแตก(อันนี้ไม่ค่อยสุภาพ แต่คิดว่าเป็นคำปรกติที่ต้องแล่นปร๊าดขึ้นมาในสมองคุณแน่ๆ จริงมั้ยคะ) อ่านหนังสือพิมพ์เจอข่าวข่มขืนก็รู้สึกเศร้า อยากจะเขียนเรื่องชีวิตบัดซบของสังคมเมือง หรือ เปิดนิตยสาร เห็นภาพคุณหญิงคุณนายไฮโซ ใส่ผ้ามัดหมี่ ทาปากสีแดงเดียวกัน ก็รู้สึกอยากจะเขียนละครเสียดสีสังคมแบบตลกขบขัน ดีค่ะ ยิ่งคิดได้มากก็ยิ่งดี เพราะมันแสดงว่าคุณเป็นคนที่มีความคิดเห็นต่อโลกและสิ่งต่างๆรอบตัว ส่วนมากคนแบบนี้ จะรู้สึกโกรธโน่นนี่ในสังคมตลอดเวลา แล้วก็พยายามวิเคราะห์หาเหตุผลว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น ทำไมไอ้นั่นไม่เป็นแบบนี้ เป็นคุณสมบัติที่ดีของนักเขียนค่ะ (ซึ่งมักจะเป็นคุณสมบัติที่คนธรรมดาไม่ค่อยเข้าใจ และมักจะพูดลับหลังว่า- ไอ้นี่บ้าหรือเปล่าวะ -หรือ –มันเป็นอารายยย จะเอาอะไรกันนักหนา )
สรุป : หัวข้อก็คือสิ่งที่คุณอยากจะเขียนถึง ซึ่งคุณอาจจะได้แรงบันดาลใจมาจากที่ไหนก็ได้
จากเพลง จากกลอน จากคนรอบๆตัว หรือจากประสบการณ์ของคุณเองที่ผ่านมา
Theme
เอาล่ะ ตอนนี้คุณก็มีหัวข้อที่จะเขียนถึงแล้ว คราวนี้เราก็มาถึงสิ่งที่สำคัญอันหนึ่งที่ เราจะได้ยินกันบ่อยมากสำหรับภาษาการละคร นั่นคือ theme ซึ่งดิฉันขอเรียกว่า แกนความคิดหลัก แกนความคิดหลักก็คือความคิดเห็นของคุณที่เกี่ยวกับsubject ที่คุณจะพูดถึง มันคือ ความคิดเห็นของคุณ คือตัวตนของคุณ ที่ต้องการจะบอกให้คนอื่นรู้ว่าคุณคิดยังไง
เช่น ถ้าเราจะเขียนเรื่องความรัก แค่คำว่าความรักคำเดียวนี้ มันอาจจะไม่พอ คุณคงจะต้องขยายความสิ่งที่คุณคิดต่อไปอีกสักหน่อย เช่น ถ้าคุณคิดว่า ความรักที่แท้จริงนั้นย่อมไม่มีอุปสรรคอันใดมาขวางได้ แม้แต่ความตาย คุณก็จะได้ theme แบบเดียวกับ โรมิโอ จูเลียต นั่นเอง
ในละครที่มีโครงรื่องซับซ้อน นั้น มักจะมีtheme เกินกว่า 1 theme เสมอ เช่น ในโรมิโอจูเลียดนั้น นอกจากความรักแล้ว ก็ยังมีเรื่องของความขัดแย้งระหว่างสองตระกูลแฝงอยู่อีกด้วย
Plot และ Characters
Plot ก็คือ โครงเรื่อง และ Characters ก็คือ ตัวละคร
เป็นการยากมากที่จะแยกโครงเรื่องและตัวละครออกจากกัน ดิฉันเองนั้นบางทีก็คิดสร้างตัวละครขึ้นมาก่อน แต่บางทีก็คิดโครงเรืองคร่าวๆก่อน แล้วก็คิดตัวละครตามมา บางทีก็คิดไปพร้อมๆกัน ถ้าไม่พอใจก็แก้ไขเปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องไปติดอยู่กับอะไรก่อนอะไรหลัง สิ่งที่สนุกที่สุดของการเขียนบทละครก็คือ คุณต้องเปลี่ยนแปลงแก้ไขมันได้ตลอดเวลา ไม่จำเป็นอะไรที่คุณจะต้องยึดติดกับสิ่งที่คุณสร้างขึ้นมา ถ้าเขียนๆไปแล้ว มันไม่ดี ก็เปลี่ยนได้เสมอค่ะ
ละคร คือ เรื่องราวที่เกี่ยวกับ มนุษย์ และละครของคุณก็จะต้องมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่มนุษย์เหมือนกัน (คุณอาจจะเถียงข้างๆคูๆ ว่าตัวละครของคุณเป็นหมา หรือ โต๊ะเก้าอี้ ก้อนหิน แต่เชื่อเถอะ ในละครของคุณ มันก็ต้องคิดแบบมนุษย์นี่ล่ะ เพราะคุณเป็นคนเขียน แล้วคุณก็คือมนุษย์ หรือว่าคุณไม่ใช่ อันนี้ก็ตัวใครตัวมันแล้วกันนะคะ) สิ่งที่ยากที่สุด ก็คือ คุณจะเล่าเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ในเรื่องของคุณอย่างไร เพื่อให้คนดูรู้สึกสนใจที่จะติดตามชะตาชีวิตของมนุษย์คนนี้หรือกลุ่มนี้ต่อไปเรื่อยๆ จนเมื่อละครจบ เขาก็จะได้รู้สึกตามที่คุณตั้งใจจะให้เขารู้สึก .
การสร้างโครงเรื่อง
การสร้างโครงเรื่องโดยทั่วไปนั้น เราจะเห็นอยู่สองแบบคือ โครงเรื่องแบบไต่ระดับ(climatic plot) และ โครงเรื่องแบบ มหากาพย์(episodic plot )
คำว่า climatic ก็มาจากไคลแมกซ์ ซึ่งหมายถึงจุดสูงสุด หรือจุดแตกหักในละคร การสร้างโครงเรื่องในลักษณะนี้ หมายถึง เรื่องจะเริ่มขึ้นในเวลาที่ความขัดแย้งเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว และจะไต่ระดับเหตุการณ์ต่างๆให้เร้าใจขึ้นเรื่อยๆอย่างรวดเร็ว จนถึงจุดแตกหัก ในที่สุด แล้วจากนั้นเหตุการณ์ก็จะคลี่คลายลง ตัวละครในโครงเรื่องแบบนี้มักจะมีไม่กี่ตัว และระยะเวลาของการดำเนินเรื่องก็มักจะไม่กินเวลามากมาย บางเรื่องก็ใช้เวลาแค่ชั่วข้ามคืนเท่านั้น ส่วนใหญ่ละครหรือภาพยนตร์ที่เราดูๆกันก็จะใช้โครงสร้างแบบนี้
ตรงกันข้ามกับโครงเรื่องแบบไต่ระดับ ก็คือ โครงเรื่องแบบมหากาพย์ คำว่า episodic มาจาก epi c ลองนึกถึงบทละครเรื่องรามเกียรติ์ นะคะ เรื่องราวในรามเกียรติ์จะเล่าไปเรื่อยๆ เป็นตอนๆ ยืดยาว มีตัวละครเยอะแยะและมีรายละเอียดมากมาย .และผู้ชมก็จะค่อยๆทำความเข้าใจกับตัวละครและเรื่องทั้งหมดไปเรื่อยๆ จนเมื่อดูจบเรื่องก็จะเข้าใจถึงความคิดหลักของละคร อันนี้คือโครงสร้างแบบมหากาพย์ ค่ะ
สำหรับเวิร์คชอบครั้งนี้ ดิฉันจะขอพูดถึงเฉพาะการสร้างโครงเรื่องแบบไต่ระดับ เท่านั้นนะคะ เพราะเป็นแบบเบื้องต้นที่สุด
การสร้างโครงเรื่องแบบไต่ระดับนั้น ถ้าเรียงลำดับอย่างคร่าวๆ ตามหลักการก็จะเป็นแบบนี้
เปิดเรื่อง เพื่อแนะนำตัวละครและให้ภูมิหลังว่าเรื่องที่กำลังจะเกิดขึ้นต่อไปนี้ มีความเป็นมาอย่างไร
มีความขัดแย้ง(conflict) เกิดขึ้นระหว่าง ใครบางคน
กับใครบางคน
หรือกับตัวเอง
หรือกับหลักการ
สาเหตุของความขัดแย้ง คือ อะไร
ความขัดแย้งนั้นจะค่อยๆทวีความเข้มข้นและรุนแรงขึ้นทุกที จนกระทั่งมาถึง
จุดสูงสุดหรือจุดแตกหัก ( climax) ของเรื่อง ซึ่งก็อาจจะได้แก่
-การเผขิญหน้า
-การหลบหนีความจริง
-ความเจ็บปวด
และหลังจากนั้น ก็จะเป็นช่วงที่เรื่องคลี่คลายลง จนจบ
คุณอาจจะลองดูกราฟอันนี้เพื่อความเข้าใจ
เปิดเรื่อง
ความขัดแย้ง
เหตุการณ์ต่างๆ
จุดแตกหัก
การคลี่คลาย
(ซึ่งการคลี่คลายอันนี้อาจจะมีเรื่องอื่นๆตามมา อีกเรียกว่า sub plot )
จุดจบของเรื่อง
แต่ถ้าเรียงลำดับตามแบบง่ายๆของดิฉันเอง (ลองทำเสียงไล่อารมณ์จากราบเรียบขึ้นไป เรื่อยๆ จนถึงจุดสูงสุด ที่(อย่างนั้นเลยเหรอ) แล้วค่อยๆไล่อารมณ์ลง ก็จะได้แบบนี้)
เรื่องเป็นมายังไงนะ
ใคร
มีปัญหาอะไร
กับใคร
ที่ไหน
เพราะอะไร
แล้วยังไง
แล้วยังไงอีก
แล้วยังไงอีก
(อย่างนั้นเลยเหรอ !)
แล้วมันส่งผลยังไงล่ะ
แล้วเรื่องคลี่คลายยังไงล่ะ
แล้วยังไงอีกล่ะ
แล้วตอนจบล่ะ
(เหรอ)
( อือม์)
ย้อนกลับไปดูข้างบนอีกที จะเห็นว่า ดิฉันขีดเส้นใต้ ไว้สองคำ คือ ใคร กับ เพราะอะไร
ใคร ที่ดิฉันขีดเส้นใต้ไว้ ก็คือ ตัวละครของคุณนั่นเอง ตัวละครที่คุณสร้างขึ้นมาเพื่อดำเนินเรื่อง และ เพราะอะไร ก็คือความคิดและเหตุผลของตัวละครของคุณ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เพราะ มนุษย์ทุกคน ย่อมมีเหตุผลของตัวเองในการกระทำทุกอย่าง ไม่ว่าการกระทำนั้นจะดูโง่เง่าในสายตาคนอื่นเพียงไร แต่เขาก็ต้องมีเหตุผลว่า เพราะอะไรถึงทำ จริงมั้ยคะ ซึ่งต่อไป เราจะพูดกันในรายละเอียดเรื่องการสร้างตัวละครอีกทีนึง
ส่วนที่มีวงเล็บไว้นั้นคือคำอุทาน เมื่อเรื่อองดำเนินมาจนถึงจุดสูงสุด พอที่จะให้เราอุทานออกมาได้ว่า (อย่างนั้นเลยเหรอ! ) และ หลังจากที่เรื่องดำเนินมาจนถึงจุดแตกหักหรือจุดสูงสุดแล้ว เรื่องก็จะค่อยๆคลี่คลายลงจนถึงในตอนจบ เราก็จะเข้าใจเรื่องทั้งหมด พอที่จะรู้สึกได้ว่า (เหรอ) (อือม์)
คุณจะเลือกใช้แบบไหนก็ได้นะคะ ตามสะดวก บอกแล้วไงไม่มีอะไรเป็นทฤษฎีตายตัว คุณแค่รู้ไว้ แล้วนำมาปรับใช้ตามความเข้าใจของคุณก็แล้วกัน อาจารย์สดใส พันธุมโกมล อาจารย์ผู้เป็นที่เคารพรักของดิฉัน มักจะพูดเสมอว่า ทฤษฎี คือ พาหะ(ที่จะนำเราไปสู่จุดหมาย) ไม่ใช่ภาระ (ที่จะถ่วงไม่ให้เราไปถึงตรงนั้น) ซึ่งดิฉันก็ว่าจริงที่สุดแล้ว คุณเห็นด้วยมั้ยคะ
คุณจะรู้ได้ยังไงว่า โครงเรื่องของคุณนั้น น่าสนใจพอที่จะทำให้คนติดตาม เราไม่รู้หรอกค่ะ จนกว่า เราจะวางโครงเรื่องเสร็จและเล่าให้คนอื่น(ที่จริงใจ และรักคุณมากพอที่จะไม่โกหกเพื่อให้คุณรู้สึกดี - จะมีมั้ยนี่) ฟัง แต่อย่างไรก็ตาม มีกลวิธีนิดหน่อยที่นักเขียนมักจะใช้เสมอ ซึ่งคุณอาจจะรู้ไว้และนำไปใช้ได้
บทละครของเราตั้งแต่เช้า ตัวละครตัวหนึ่งตื่นขึ้นมา แล้วก็ไปอาบน้ำ แล้วก็ไปทำงาน แล้วก็ไปกินข้าวกลางวัน แล้วก็ไปทำงานอีกที แล้วก็……….. คนดูก็คงจะหลับหรือลุกไปตั้งแต่แรกแล้ว
แต่ถ้าเราลองเริ่มเรื่องใหม่ ด้วยการให้ ตัวละครตัวนี้ ตื่นขึ้นมา และค้นพบว่า โลกที่เขาเคยอยู่ไม่เหมือนเดิมเสียแล้ว เมื่อขาลุกขึ้นจากเตียงด้านขวาตามที่ทำมาทุกวัน เขาชนกับตู้ ที่ไม่เคยอยู่ที่นั่น เมื่อขาจะเข้าห้องน้ำ เขาหาประตูห้องน้ำไม่เจอ .. ทุกอย่างเปลี่ยนไปหมด.. เกิดอะไรขึ้นกับโลกใบเก่าของเขา นี่คือปริศนา ที่จะทำให้คนอยากรู้อยากเห็นต่อไป
ขอเน้นอีกครั้งว่า ไม่จำเป็นที่คุณจะต้องใช้กลวิธีเหล่านี้เสมอไปนะคะ และเรื่องที่ใช้กลวิธีสองแบบนี้ก็ไม่ใช่เรื่องที่ดีที่สุดเสมอไป แต่เป็นเพียงสิ่งที่อาจจะช่วยคุณได้ เมื่อคุณไม่รู้จะเริ่มต้น ดำเนินเรื่อง หรือลงท้ายอย่างไร เท่านั้น
ไม่ว่าคุณจะใช้กลวิธีไหนหรืออาจจะไม่ใช้เลย สิ่งที่สำคัญที่สุด ก็คือ การใส่ตัวตนและความคิดเห็นของคุณลงไปในเรื่อง จริงๆแล้ว เรื่องทุกเรื่องในโลกนี้ มีคนเล่ามาแล้วทั้งนั้น แต่ สิ่งที่จะทำให้เรื่องของคุณแตกต่างไปจากเรื่องของคนอื่นก็คือ ความคิดเห็นของคุณเอง ที่มีต่อเหตุการณ์ในเรื่อง ที่มีต่อตัวละคร ที่มีต่อโลกและสังคม ดังนั้น นักเขียนจึงไม่กลัวที่จะแสดงความรู้สึกและอารมณ์ของเขา ผ่านตัวละคร
ดังนั้นในตอนนี้ ดิฉันจะให้การบ้านคุณสองอย่าง
อย่างแรกก็คือ โปรดอ่านบทละครเวที เพื่อให้คุณเข้าใจลักษณะของโครงเรื่องแบบต่างๆ
อย่างที่ 2 ดิฉันจะให้แบบฝึกหัดให้คุณลองสร้างโครงเรื่องดูนะคะ
เนื่องจากดิฉันเป็นคนที่มีความเชื่อมั่นว่า มนุษย์ทุกคนล้วนมีจินตนาการและความคิดสร้างสรรค์อยู่ในตัว เพียงแต่เราอาจจะยังไม่เคยนำมาใช้เท่านั้นเอง และความคิดสร้างสรรค์นี้สามารถเกิดขึ้นได้ทันทีทันควัน และดำเนินต่อเนื่องไปเรื่อยๆถ้ามีแรงบันดาลใจ เพียงแต่คุณต้องไม่ยั้งมันเอาไว้ ในแบบฝึกหัดนี้ดิฉันจะให้โจทย์คุณลองเลือกทำ เมื่อคุณเลือกโจทย์ได้แล้ว ขอให้สร้างโครงเรื่องขึ้นจากโจทย์ทันที ไม่ว่าคุณจะคิดอะไรก็เขียนออกมา อย่ายั้งไว้ อย่ากลัวโง่ อย่ากลัวไม่ดี ลองปลดปล่อยจินตนาการของคุณดูสักครั้ง แล้วคุณก็จะพบว่ามันไม่ได้ยากอะไรเลย แล้วก็อย่าลืมนะคะว่านี่ไม่ใช่การสอบ ไม่ใช่วิชาเรียน เพียงแต่เป็นเวิร์คชอบสนุกๆ ฝึกการเขียนเท่านั้น
เพราะฉะนั้น อย่ากลัวผิด ค่ะ
ต่อไปนี้จะเป็นโจทย์ให้คุณเลือก เลือกเรื่องเดียวนะคะ เมื่อคุณเห็นโจทย์แล้ว ลองใช้จินตนาการของคุณสร้างเรื่องขึ้น ตามแนวทางของการสร้างโครงเรื่องที่เราพูดถึงไปแล้ว ลองดูนะคะ
สำหรับผู้ที่ชอบมีโจทย์ โปรดดูรูปนี้ แล้วสร้างโครงเรื่องขึ้นจากรูปนี้ ใครๆก็รู้จักเธอคนนี้ทั้งนั้น โมนาลิซ่า เมื่อคุณมองภาพนี้แล้วอยากจะสร้างโครงเรื่องอะไรที่เกี่ยวกับภาพนี้ ก็เขียนมาเลยนะคะ